บทความที่ได้รับความนิยม

Custom Search

นำเสนอเรื่องราวของความรักในรูปแบบต่างๆมีทั้ง เร้าใจ เศร้า สนุกสนาน และ วิชาการ


Wikipedia

ผลการค้นหา

วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

เมื่อคุณเตรียมตัวจะมีชีวิตคู่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
รองศาสตราจารย์ วิมลศิริ ชำนาญเวช
คุณผู้หญิง ....
~ เมื่อคุณเตรียมตัวจะมีชีวิตคู่ ~
กฎหมายครอบครัว - มรดก

เมื่อคุณเตรียมตัวจะมีชีวิตคู่ สิ่งสำคัญลำดับแรกก็คือ ชายที่จะมาเป็นคู่ชีวิต เขาจะเป็นคนอย่างไร อยู่กับคุณยืด หรือไม่ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนนะคะ คุณต้องหาเอง เลือกเอง ข้อสำคัญอย่าไปเลือกคน ที่เขามีเจ้าของแล้ว เพราะจะผิดทั้งศีลธรรม ทั้งกฎหมาย เกิดความรักสามเส้า ที่นำความเศร้ามาให้มากกว่า ความสุข

เรื่องที่ผู้เขียนจะขอเรียนให้ทราบก็คือเรื่อง กฎหมายครอบครัวและมรดกซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ ทุกคนควรรู้ไว้ ก่อนทำการสมรส จะรอไว้รู้ที่หลังจะสายเกินแก้นะคะ

เรื่องที่จะกล่าวถึงในบทความนี้มี ๗ เรื่อง คือ

๑ . การหมั้น
๒ . เงื่อนไขการสมรส
๓ . ทรัพย์สินระหว่าง สามี – ภริยา
๔ . การหย่า
๕ . บุตรนอกสมรส
๖ . บุตรบุญธรรม
๗ . มรดก

ดิฉันได้แนบแบบพินัยกรรมและแบบสัญญาหย่าไว้ท้ายบทความนี้ด้วยถึงคุณจะไม่ใช้ใบหย่าเอง รู้ไว้บอกเพื่อนก็ได้ค่ะ

๑ . การหมั้น

กฎหมายกำหนดเงื่อนไขในการหมั้นไว้ ๓ ประการ คือ

๑ . อายุ ทั้งหญิง – ชาย ต้องมีอายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์

๒ . ความยินยอม ต้องให้บิดา มารดา ผู้ปกครองให้ความยินยอม

๓ . ของหมั้น ต้องมีการมอบของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

ของหมั้น ไม่จำต้องเป็นแหวนเพชรราคาแพง จะใช้เงินสดหรือเครื่องประดับอย่างอื่น หรือ ทองคำก็ได้

ถ้าให้ที่ดินต้องไปโอนกรรมสิทธิใส่ชื่อหญิงลงในโฉนดด้วย การมอบโฉนดให้ถือไว้เฉย ๆ ยังไม่ถือว่าเป็นการให้และไม่ถือว่าเป็นของหมั้น

ของหมั้นตกเป็นกรรมสิทธิของหญิงตั้งแต่วันหมั้น และเป็นสินส่วนตัวของหญิงเมื่อสมรส

สินสอด เป็นทรัพย์สิน ซึ่งฝ่ายชายมอบให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส

ถ้าไม่มีการสมรสโดยหญิงเป็นฝ่ายผิด ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้

การหมั้นได้ประโยชน์อย่างไร
กฎหมายไม่บังคับว่าต้องหมั้น ชายหญิงจะทำการสมรสโดยไม่หมั้นก็ได้ แต่ถ้าหมั้นก็จะเป็นหลักประกันความมั่นคงในครอบครัว เพราะเป็นการที่ผู้ใหญ่ทั้งสองข้างรับรู้ ป้องกันการสมรสซ้อน เนื่องจากว่า ถ้าเจ้าบ่าวมีคู่สมรสอยู่แล้ว ผู้ใหญ่ก็จะไม่มาหมั้นซ้ำซ้อนให้อีก

การหมั้นก่อให้เกิดสิทธิ ๓ ประการคือ
๑ . ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากฝ่ายที่ผิดสัญญาหมั้น

๒ . ชายคู่หมั้นมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นที่มาแย่งคู่หมั้นหรือมาข่มขืนหญิงคู่หมั้น แต่หญิงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มาแย่งคู่หมั้น ได้แต่ใช้สิทธิบอกเลิกการหมั้น โดยไม่ต้องคืนของหมั้นเท่านั้น

๓ . ถ้าฝ่ายใดประพฤติชั่วภายหลังหมั้น จนเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งบอกเลิกการหมั้น ฝ่ายที่ประพฤติชั่วจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งด้วย

๒ . เงื่อนไขการสมรส
กฎหมายกำหนดเงื่อนไขการสมรสไว้ ๙ ประการคือ
๑ . อายุ ชายหญิงต้องอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ ถ้าจะสมรสอายุน้อยกว่านี้ต้องขออนุญาตศาล มิฉะนั้นทางอำเภอจะไม่จดทะเบียนสมรสให้

๒ . สติ ชายหญิงต้องสติดีไม่เป็นคนวิกลจริต

๓ . ญาติ กฎหมายห้ามญาติสนิทสืบสายโลหิตสมรสกัน

๔ . บุตรบุญธรรม ห้ามสมรสกับผู้รับบุตรบุญธรรม

๕ . โสด ถ้ามีคู่สมรสแล้วห้ามจดทะเบียนสมรสอีก

๖ . หญิงหม้าย ต้องรอ ๓๑๐ วัน จึงจะสมรสใหม่ได้

๗ . ผู้เยาว์ ต้องขอความยินยอมจากบิดามารดา

๘ . สมัครใจ ชายหญิงต้องยินยอมเป็นสามีภริยากัน

๙ . จดทะเบียน ถ้าไม่จด ไม่ถือว่าเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย

ทะเบียนสมรสให้ประโยชน์อย่างไร 
การจดทะเบียนสมรสทำให้เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายก่อให้เกิดสิทธิต่อไปนี้

๑ . อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา

๒ . รับการอุปการะเลี้ยงดูจากกันและกัน

๓ . หญิงมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของสามี

๔ . หญิงต่างชาติมีสิทธิขอถือสัญชาติไทยตามสามีได้

๕ . มีสิทธิจัดการสินสมรสร่วมกัน

๖ . มีสิทธิรับมาดกของคู่สมรสเมื่ออีกฝ่ายตายก่อน

๗ . มีสิทธิรับเงินจากทางราชการหรือจากนายจ้าง ถ้าตายเพราะปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการทำงาน

๘ . มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนฐานทำให้ต้องขาดไร้อุปการะจากบุคคลภายนอกที่ทำให้ คู่สมรสตาย

๙ . มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากบุคคลที่สามที่มาแย่งคู่สมรส

๑๐ . ทำให้บุตรมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย

เอกสารที่ต้องเตรียมในการจดทะเบียนสมรส
๑ . บัตรประชาชน

๒ . สำเนาทะเบียนบ้าน

๓ . รายการทรัพย์ที่เป็นสินส่วนตัว

ถ้าประสงค์จะทำสัญญาก่อนสมรส
ถ้าเจ้าบ่าว เจ้าสาวอายุยังไม่ถึง ๒๐ ปีบริบูรณ์ จะต้องไปอำเภอ ๖ คน คือ คุณพ่อคุณแม่เจ้าบ่าว ตัวเจ้าบ่าว คุณพ่อคุณแม่เจ้าสาว ตัวเจ้าสาว หากคุณพ่อคุณแม่คนใดไปอำเภอไม่ได้ ต้องเขียนจดหมายให้ความยินยอม ระบุชื่อเจ้าบ่าว เจ้าสาว และลงชื่อผู้ให้ความยินยอม

ถ้าจะเชิญนายทะเบียนมาจดทะเบียนสมรสให้ที่บ้าน หรือสถานที่ที่จัดงานสมรสก็ได้ โดยไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนล่วงหน้า และนัดหมายนายทะเบียนพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนนอกสถานที่เป็นเงิน ๒๐๐ บาท

ข้อควรระวัง
ไม่ควรแต่งงานตามประเพณี ส่งตัวเข้าหอก่อน แล้วไปจดทะเบียนทีหลัง เพราะถ้าเขาไม่ยอมจดก็จะเกิดความเสียหาย ต้องฟ้องร้องมีคดีความกัน ยุ่งยากเนื่องจากสังคมไทยยังถือว่าความบริสุทธิ์ของ ผู้หญิงเป็นสิ่งสำคัญ กฎหมายยอมให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่กายและชื่อเสียงได้ ถ้าคู่หมั้นไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรส แต่ถ้าไม่มีการหมั้นก็ฟ้องไม่ได้

๓ . ทรัพย์สินระหว่างสามี – ภริยา
กฎหมายแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามี – ภริยา เป็น ๒ ชนิด คือ สินส่วนตัว กับ สินสมรส

สินส่วนตัว

ได้แก่ทรัพย์สิน ๔ อย่างต่อไปนี้

๑ . ทรัพย์ที่มีอยู่ก่อนสมรส

๒ . เครื่องแต่งกายเครื่องประดับตามควรแก่ฐานะ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

๓ . ทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดก หรือการให้โดยเสน่หา เช่น พ่อตาแม่ยายตาย ฝ่ายหญิงได้รับมรดกมาก็เป็นสินส่วนตัวของหญิง พ่อผัว แม่ผัวตาย ฝ่ายชายได้มรดกมาก็เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายชาย

คำว่าให้โดยเสน่หา คือ ให้ตั้งแต่ผู้ให้ยังมีชีวิตอยู่ ให้แก่ใครก็เป็นสินส่วนตัวของผู้นั้น

๔ . ของหมั้น เป็นสินส่วนตัวของหญิง
สินสมรส ได้แก่ทรัพย์สิน ๓ รายการนี้ คือ

๑ . ทรัพย์ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

๒ . ทรัพย์ที่ผู้ให้ทำพินัยกรรม หรือหนังสือยกให้ ระบุว่าให้ทั้งสองคนเป็นสินสมรส

๓ . ทรัพย์ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว เช่น ก่อนสมรส ชายมีเงินฝากธนาคาร หญิงมีหุ้นบริษัท เมื่อสมรสแล้ว ได้ดอกเบี้ยจากเงินฝาก หรือเงินปันผลจากหุ้น ดอกเบี้ยและเงินปันผลจากสินส่วนตัวของทั้งสองข้าง ถือเป็นสินสมรสที่เป็นเจ้าของร่วมกัน

การจัดการทรัพย์สิน
สินส่วนตัวของฝ่ายใดฝ่ายนั้นจัดการเองได้โดยลำพัง

สินสมรส ถ้ามีสัญญาก่อนสมรส ตกลงจดไว้ในวันจดทะเบียนสมรสว่าให้ฝ่ายใดจัดก็เป็นไปตามข้อตกลง ถ้ามิได้มีสัญญาก่อนสมรส กฎหมายให้สามีภริยาจัดการสินสมรสร่วมกัน เฉพาะนิติกรรมที่สำคัญ ๘ อย่าง คือ

๑ . ขาย ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง อสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ตึก บ้าน หรือสังหาริมทรัพย์ ที่อาจจำนองได้ เช่นเรือกำปั่น เรือกลไฟ แพ สัตว์พาหนะ หรือเครื่องจักรที่จดทะเบียนแล้ว

๒ . ก่อตั้งทรัพยสิทธิ หรือทำให้ทรัพยสิทธิสิ้นสุดลง เช่น มีที่ดินติดถนนบังแปลงอื่น การตกลงยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงใน ทำทางผ่าน เรียกว่าก่อให้เกิดภาระจำยอม เป็นทรัพยสิทธิชนิดหนึ่ง ข้อตกลงนี้ต้องจดทะเบียน และต้องให้คู่สมรสยินยอม

๓ . ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน ๓ ปี

๔ . ให้กู้ยืมเงิน การที่สามีภริยาจะนำเงินสินสมรสออกให้ใครกู้ยืมต้องปรึกษาหารือคู่สมรส เพื่อพิจารณาว่าควรให้เขากู้ยืมหรือไม่ ลูกหนี้มีทางจะชำระคืนได้หรือไม่ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัว

๕ . ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

๖ . ประนีประนอมยอมความ

๗ . มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย คือการตกลงให้คนกลางตัดสินข้อพิพาทเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเป็นความ ข้อตกลงอย่างนี้ต้องให้คู่สมรสยินยอมด้วย

๘ . นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงาน หรือศาล

การที่จะเอาทรัพย์สินไปวางประกันตัวผู้ต้องหาที่ถูกตำรวจจับ เสี่ยงต่อความสูญเสีย เพราะถ้า ผู้ต้องหาหลบหนีไม่ไปให้ถ้อยคำตามที่เจ้าพนักงานนัดหมาย หลักทรัพย์ที่ไปวางประกันไว้จะถูกยึด ขายทอดตลาด จึงต้องขอความยินยอมจากคู่สมรสก่อนเอาไปประกัน และเมื่อพ้น ๗ วันแล้ว เจ้าพนักงานส่งตัวผู้ต้องหาไปศาล ต้องตามไปประกันที่ชั้นศาล ก็ต้องมีหนังสือยินยอมของคู่สมรสไปแสดงต่อศาลเช่นเดียวกัน

๔ . การหย่า
ถ้าอยู่ด้วยกันไม่มีความสุข ประสงค์จะหย่าขาดจากกัน ตกลงกันได้โดยสันติวิธี เขียนสัญญาหย่าเป็นลายลักษณ์อักษร แบ่งลูกแบ่งทรัพย์กัน ว่าลูกคนไหนใครจะปกครอง ทรัพย์ชิ้นไหนใครจะเอา ลงชื่อสามี ภริยา ต่อหน้าพยาน ๒ คน แล้วนำสัญญาหย่าไปจดทะเบียนที่อำเภอ

ข้อที่ควรระวังคือ ต้องคิดให้รอบคอบ อย่าตัดสินใจวู่วามใช้อารมณ์เพราะบางครั้งเมื่อหายโกรธจะกลับมาคืนดีกันอีกก็กลับไม่ได้ เพราะเขาไปจดทะเบียนใหม่กับคนอื่นไปก่อนแล้ว

ถ้าตกลงกันไม่ได้เพราะฝ่ายหนึ่งอยากหย่า แต่อีกฝ่ายไม่ยินยอม หรือยอมแต่แย่งลูกแย่งทรัพย์กัน ก็ต้องฟ้องศาล การฟ้องศาลต้องมีเหตุอ้างตามที่กฎหมายกำหนด คือ

เหตุหย่า
๑ . สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา หรือภริยามีชู้

๒ . ประพฤติชั่ว

๓ . ทำร้าย หมิ่นประมาทอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างร้ายแรง

๔ . จงใจ ละทิ้งร้างเกิน ๑ ปี

๔ . ๑ ถูกจำคุกเกิน ๑ ปี

๔ . ๒ สมัครใจแยกกันอยู่ เพราะไม่อาจอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน ๓ ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี

๕ . ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เกิน ๓ ปี ไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร

๖ . ไม่อุปการะเลี้ยงดู หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง

๗ . วิกลจริตตลอดมาเกิน ๓ ปี

๘ . ผิดทัณฑ์บน

๙ . เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เรื้อรัง ไม่มีทางหาย เป็นอันตรายแก่อีกฝ่ายหนึ่ง

๑๐ . สภาพแห่งกายไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล

เหตุอย่า ข้อ ๑ คือเรื่องนอกใจกัน ถ้าหย่าเพราะเหตุนี้มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากคู่หย่า และจากบุคคลที่มาแย่งคู่สมรสได้ด้วย หรือจะไม่ฟ้องหย่าจะใช้สิทธิเฉพาะฟ้องบุคคลที่ ๓ ที่มาแย่งคู่สมรส แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้สาวกับสามีก็ได้ แต่ต้องฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่ รู้ความจริงมิฉะนั้นคดีขาดอายุความศาลไม่รับฟ้อง

เหตุหย่าตามข้อ ๔ . ๑ , ๔ . ๒ เพิ่มขึ้นตามกฎหมายใหม่ใช้บังคับตั้งแต่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๓ วัตถุประสงค์ของข้อ ๔ . ๒ ก็เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีเวลายับยั้งชั่งใจคิดไห้รอบคอบ เมื่อแน่ใจว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้วจึงค่อยหย่ากัน ข้อที่ควรระวังก็คือ ถ้าไม่อยากถูกฟ้องหย่าเพราะเหตุนี้ก็ต้องแสดงทีท่าว่ายัง ยินดีต้อนรับยังอยากปรับความเข้าใจ ยังรักใคร่ใยดีให้ปรากฏ มิฉะนั้นอีกฝ่ายจะอ้างได้ว่าบัดนี้มีการสมัครใจแยกกันอยู่เกินสามปีแล้ว จะทำให้ถูกฟ้องอย่าโดยที่มิได้มีความผิด

๕ . บุตรนอกสมรส
เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้จดทะเบียนสมรส เป็นบุตรนอกสมรสของชายถ้าชายมีศีลธรรมดี รับผิดชอบต่อเลือดเนื้อเชื้อไขของเขา ก็มีทางช่วยให้เด็กเปลี่ยนฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ ๓ วิธี คือ

๑ . จดทะเบียนสมรสกับแม่เด็ก การจดทะเบียนสมรส ทำให้ลูกทุกคนที่เกิดแล้ว และจะเกิดต่อไปมีฐานะเป็นลูกชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่วันที่ บิดามารดา จดทะเบียนสมรสกัน

๒ . จดทะเบียนรับรองบุตร วิธีนี้ใช้เมื่อชายไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับแม่ของเด็กได้ เพราะมีคู่สมรสอยู่แล้ว ถ้าจะจดทะเบียนเด็กให้บุตรชอบด้วยกฎหมายต้องให้เด็กและมารดาเด็กยินยอม กฎหมายไม่บังคับว่า คู่สมรสของชายต้องมาให้ความยินยอมด้วย เพราะถ้าบัญญัติไว้เช่นนั้น เด็กก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร การที่บิดาของเด็กประพฤติผิดศีลธรรมนอกใจคู่สมรส เด็กมิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นด้วย กฎหมายจึงไม่กำหนดว่าต้องให้คู่สมรสของชายมาให้ความยินยอม

๓ . ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ถ้าชายไม่ยอมจด หรืออยากจด แต่หญิงมารดาเด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้ เพราะตายหรือสูญหายไปเช่นนี้ ต้องมีคำพิพากษาของศาลไปแสดง ทางอำเภอจึงจะจดทะเบียนรับรองบุตรให้

การฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรนี้ แม้ว่าชายจะตายไปแล้วก็ยังฟ้องได้ แต่ต้องฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่ชายตาย เพื่อจะได้มีสิทธิรับมรดก แต่ถ้าต้องการเพียงได้ชื่อว่าเป็นลูกมีอายุความฟ้องได้ภายใน ๑ ปี นับแต่เด็กบรรลุนิติภาวะ

๖ . บุตรบุญธรรม
ผู้ประสงค์จะรับบุตรบุญธรรมจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด คือ

๑ . มีอายุ ๒๕ ปีบริบูรณ์ และแก่กว่าเด็กอย่างน้อย ๑๕ ปี

๒ . จะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลต่อไปนี้

ก . จากบิดา มารดาของเด็ก

ข . จากตัวเด็กเอง ถ้าอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์แล้ว

ค . จากคู่สมรสทั้งของผู้รับและผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม

ง . จากผู้ดูแลสถานสงเคราะห์ ถ้าเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งอยู่ในสถานสงเคราะห์

๓ . ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ในกรุงเทพฯมีอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์เป็นประธาน ต่างจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

๔ . ต้องผ่านการทดลองเลี้ยงดู ๖ เดือน เพื่อดูว่าเด็กเข้ากับครอบครัวใหม่ได้หรือไม่ โดยมีนักสังคมสงเคราะห์ไปเยี่ยมอย่างน้อย ๓ ครั้ง

๕ . ต้องจดทะเบียน

ผลของการเป็นบุตรบุญธรรม

เมื่อจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว เด็กจะมีฐานะในครอบครัวของผู้รับบุตรบุญธรรมอย่างบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวเดิมที่ได้กำเนิดมา คือมีสิทธิรับมรดกทั้งจากบิดามารดาบุญธรรมและบิดา มารดาผู้ให้กำเนิด

บิดา มารดาผู้ให้กำเนิดหมดอำนาจปกครองตั้งแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว

๗ . มรดก
ใครบ้างเป็นทายาท

ทายาทมี ๒ ประเภท คือ ทายาทโดยธรรม และทายาทตามพินัยกรรมถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมสั่งไว้ว่ายกทรัพย์ชิ้นใดให้แก่ใคร ผู้นั้นก็มีสิทธิรับทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม

ถ้าผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดก จะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม ซึ่งมี ๖ ลำดับ คือ

๑ . ผู้สืบสันดาน คือ บุตร ถ้าบุตรคนใดตายก่อน หลานบุตรของบุตรจะรับแทน

๒ . บิดา มารดา

๓ . พี่น้องร่วมบิดา มารดา

๔ . พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน

๕ . ปู่ ย่า ตา ยาย

๖ . ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสเป็นทายาทลำดับพิเศษ ที่จะได้รับมรดกโดยแบ่งกับทายาทอื่นของผู้ตาย

ทายาททั้ง ๖ ลำดับนี้ กฎหมายกำหนดให้ญาติสนิทลำดับต้นได้รับมรดกก่อน ถ้าผู้ตายมีทายาทลำดับต้นอยู่แล้ว ลำดับถัด ๆ ลงไปจะไม่ได้รับมรดก ยกเว้น บุตร กับ บิดามารดา และคู่สมรสของผู้ตายจะได้รับมรดกคนละเท่า ๆ กัน พร้อม ๆ กัน เช่น นายกุหลาบ สามีนางมะลิถึงแก่กรรมโดยมีบุตร ๒ คน คือ จำปี กับจำปามีบิดามารดาชื่อนายกบ กับนางกุ้ง ขณะถึงแก่กรรมมีสินสมรสอยู่ ๑๐ ล้านบาท แบ่ง สินสมรสให้ภริยาครึ่งหนึ่งก่อน คือ ๕ ล้านบาท ส่วนของผู้ตาย ๕ ล้าน ตกเป็นกองมรดกแบ่งให้ทายาท ๕ คน คือ จำปี จำปา ซึ่งเป็นบุตรคนละ ๑ ล้านบาท กบและกุ้งซึ่งเป็นบิดา มารดา คนละ ๑ ล้านบาทและมะลิซึ่งเป็นคู่สมรสได้อีก ๑ ล้านบาท

พินัยกรรมทำอย่างไร
พินัยกรรม คือ คำสั่งของเจ้ามรดกว่า ถ้าตายแล้วจะยกทรัพย์ชิ้นใดให้แก่ผู้ใด กฎหมายกำหนดแบบพินัยกรรมไว้ ๕ แบบ

๑ . แบบธรรมดา ทำเป็นหนังสือลงวันเดือนปีขณะที่ทำ ระบุว่าทรัพย์ชิ้นใดให้แก่ผู้ใดชัดเจน แล้วลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย ๒ คน

พินัยกรรมแบบนี้จะให้ผู้ใดเขียนหรือพิมพ์ก็ได้

๒ . แบบเขียนเองทั้งฉบับ ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนข้อความทั้งหมดด้วยมือตนเอง ตั้งแต่วัน เดือน ปี จนถึงลงลายมือชื่อ พินัยกรรมแบบนี้ไม่ต้องมีพยาน

๓ . เอกสารฝ่ายเมือง ถ้าเกรงว่าทายาทจะฟ้องร้องกล่าวอ้างว่า พินัยกรรมปลอม ก็ควรทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง คือไปหานายอำเภอให้ช่วยทำพินัยกรรมให้ โดยให้นายอำเภอจดแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะระบุไว้ในพินัยกรรมลงลายมือชื่อต่อหน้าพยาน ๒ คน

นายอำเภอต้องลงลายมือชื่อวัน เดือน ปี รับรองว่าพินัยกรรมนั้นทำขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมายและประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ

๔ . พินัยกรรมลับ ผู้ทำพินัยกรรม ทำพินัยกรรมแล้วปิดผนึกลงลายมือชื่อคาบรอยผนึก นำไปแสดงต่อนายอำเภอและพยาน ๒ คน ให้นายอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมไว้บนซอง และประทับตราตำแหน่งลงลายมือชื่อ นายอำเภอ ผู้ทำพินัยกรรม และพยาน บนซองนั้น

๕ . ทำพินัยกรรมด้วยวาจา การที่เจ้ามรดกสั่งว่าจะยกอะไร ให้แก่ใครคำสั่งนั้นมิใช่พินัยกรรม ใช้บังคับไม่ได้ จะใช้บังคับได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย มีโรคระบาด มีสงคราม บุคคลนั้นแสดงเจตนาต่อหน้าพยานอย่างน้อย ๒ คน พยานสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อนายอำเภอโดยไม่ชักช้า แจ้งข้อความที่ผู้ตายสั่งไว้ด้วยวาจานั้น พร้อมทั้งแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรม และพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ด้วย

พินัยกรรมแบบนี้ไม่นิยมใช้เพราะจะเกิดปัญหาได้ เพราะถ้าศาลเห็นว่าพฤติการณ์นั้น มิใช่ พฤติการณ์พิเศษ หรือพยานมาแจ้งช้าไปก็ถือว่าคำสั่งนั้นใช้ไม่ได้ เท่ากับมิได้ทำพินัยกรรม และต้องแบ่งมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมต่อไป

ข้อควรระวัง
กฎหมายห้าม ผู้เขียน พยาน และคู่สมรสของผู้เขียนหรือของพยานเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม ดังนั้น ถ้าญาติผู้ใหญ่จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่ใคร ผู้นั้นจะต้องหาคนอื่นมาเขียนพินัยกรรมให้ จะเขียนเองไม่ได้เพราะจะเสียสิทธิในการรับมรดกตามพินัยกรรมนั้น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ทายาทคนใดเอาเปรียบทายาทอื่น โดยเข้าเป็นผู้เขียนพินัยกรรมเอง และระบุทรัพย์ที่ตนอยากได้เป็นของตนคนเดียว
จาก คู่มือกฎหมายเกี่ยวกับสตรี

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ปีงบประมาณ ๒๕๓๗

รายการบล็อกของฉัน